ความเป็นมา
ทหารช่างกับสอนดำน้ำ
จริงๆ แล้ว ทหารช่าง มีภารกิจและหน้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำพอสมควร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำ หรือ แม่น้ำ ที่อยู่ในแผ่นดิน และเป็นความรับผิดชอบของกองทัพบก สังเกตได้จาก เครื่องหมายของเหล่าทหารช่างที่มี รูปสมอ เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
ถ้าเกี่ยวกับแหล่งน้ำหรือ แม่น้ำที่อยู่บนแผ่นดินแล้ว ทหารช่างมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง?
หากวิเคราะห์จากภารกิจและหน้าที่ของทหารช่างในปัจจุบันแล้ว หน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับน้ำ มีอยู่หลายประการ เช่น การส่งกำลังรบหลักในการยุทธข้ามลำน้ำ การลาดตระเวนทางน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติทางน้ำ การทำลายใต้น้ำ เช่น ทำลายสะพาน ทำลายเรือข้าศึก เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวมีการเรียนอยู่ในหลักสูตรชั้นนายร้อย และชั้นนายพันของเหล่าทหารช่างด้วย
ในภารกิจ “การทำลายใต้น้ำ” กำลังพลที่ปฏิบัติงาน นอกจากจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการคำนวณขนาดของวัตถุระเบิดที่จะใช้ และตำแหน่งที่จะวางระเบิดแล้ว ต้องมีขีดความสามารถในการดำน้ำด้วย ดังนั้น “การดำน้ำ” จึงน่าจะเป็นขีดความสามารถส่วนหนึ่งของกำลังพลของเหล่าทหารช่าง แต่ในปัจจุบันไม่ได้จัดให้มีการฝึกการดำน้ำ แม้แต่ในแผนกสงครามทุ่นระเบิด ของโรงเรียนทหารช่าง เองก็ไม่มีการฝึก
ชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ได้เปิดสอนการดำน้ำ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2538 โดยการริเริ่มของ พลตรีอาภรณ์ กุลพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง (ในสมัยนั้น) ซึ่งท่านมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ได้อนุญาตให้ส่งกำลังพลไปฝึกการดำน้ำเบื้องต้นที่ กรมทหารราบที่ 21 กองพันทหารราบที่ 2 (ทหารเสือราชินี) เมื่อ 25 ก.ย.2538 ถึง 6 ต.ค.2538 เพื่อนำวิชาการดำน้ำมาเผยแพร่ต่อไป โดยจัดตั้งขึ้นในรูปของ ชมรมกีฬาทางน้ำ ขึ้นตรงต่อศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง กองทัพบก โดยมี พันเอกนพดล เครือเช้า เป็นประธานชมรมฯ คนแรก ต่อมาได้พัฒนาการเรียนการสอนให้สู่ระดับสากล คือ สอนการดำน้ำตามหลักสูตรมาตรฐานของสถาบันดำน้ำ PADI (Professional association of diving instructor) ภายใต้ชื่อ "Engineer Divers" ซึ่งหลังจากเรียนจบ ผู้เรียนจะได้มาตรฐานการดำน้ำ 2 มาตรฐาน (Double Standard) คือ มาตรฐานทางทหารและมาตรฐานของ PADI ได้รับประกาศนียบัตร และบัตรดำน้ำสากลซึ่งสามารถใช้ดำน้ำได้ทุกแห่งทั่วโลก
ชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง เป็นหนึ่งเดียวในหน่วยงานของกองทัพบก ที่ทำการเปิดสอนดำน้ำตามมาตรฐานสากล ให้แก่ กำลังพล และบุคคลพลเรือนทั่วไปที่สนใจ ปัจจุบันที่ผู้ที่จบหลักสูตรการดำน้ำสากลแล้วกว่า 450 คน (ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2554)
ชมรมกีฬาทางน้ำฯ นอกจากสอนการดำน้ำสากลแล้ว ยังปฎิบัติภารกิจสำคัญหลายประการที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก การช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใต้ท้องทะเล ให้การสนับสนุนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ รวมทั้งการค้นหา ช่วยเหลือ และเก็บกู้ซากปรักหักพังใต้น้ำจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโอกาสต่างๆ เป็นต้น รายละเอียดดูได้จาก ผลงานกิจกรรมที่ผ่านมา
ชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง เป็นชมรมที่ตั้งอยู่ บริเวณสระว่ายน้ำ 50 เมตร ภายในค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 100 กิโลเมตร สะดวกแก่การเดินทางของผู้เข้าเรียนดำน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ ที่พัก ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นรีสอร์ต บ้านห้องแถว อาคารรับรอง และโบกี้รถไฟที่ดัดแปลงมาเป็นที่พัก มีร้านอาหารอร่อยริมทะเลสาบขนาดใหญ่ มีบริการนันทนาการด้านอื่นๆ โดย สำนักงานการท่องเที่ยวกรมการทหารช่าง เช่น การขี่จักรยานเสือภูเขายามเช้าและเย็นท่องอุทยานหินเขางู การปีนหน้าผาจำลอง การพักผ่อนกับสวนสาธารณะที่สวยงาม การออกกำลังกายกับสวนสุขภาพมาตรฐาน แถมยามเย็นยังได้ชมฝูงค้างคาวที่บินออกจากถ้ำระฆังอย่างตื่นตาตื่นใจกว่าหนึ่งล้านตัว มีสระว่ายน้ำให้บริการถึง 2 สระ มีสนามยิงปืนมาตรฐานให้ฝึกยิง และสนามกีฬาให้ออกกำลังกายกันอย่างครบถ้วน นอกจากนั้นผู้ที่ชอบเล่นกอล์ฟ ยังมีสนามกอล์ฟภาณุรังษี 18 หลุมให้เล่นอีกด้วย และที่สำคัญที่สุด มีความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาพัก
ต่อมาปี พ.ศ.2555 พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ ประธานชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง กองทัพบก/ครูผู้สอน ต้องย้ายไปปฎิบัติภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม จึงทำให้การสอนหลักสูตรดำน้ำสากล ขาดตอนลง แต่ก็ยังมีอยู่สอนอยู่ แต่ไม่บ่อยครั้งนัก
จนกระทั่งปี พ.ศ.2564 พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ เกษียณราชการ จึงตัดสินใจยุบเลิกชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง (เพราะไม่มีผู้สานโครงการต่อ) และแปรสภาพมาเป็น ชมรมกีฬาดำน้ำจังหวัดราชบุรี (Ratchburi Diving Sport Club: RDST) ย้ายที่ตั้งชมรมฯ จากค่ายบุรฉัตร มาอยู่ที่ สถาบันราชบุรีศึกษา 20/23 ถ.สมบูรณ์กุล ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ในปัจจุบัน
**********************
ความคิดเห็น