Translate

พ.ศ.2561 ปีปะการังสากล ครั้งที่ 3 (IYOR2018) : ประชารัฐร่วมใจ รักษ์ปะการังไทยให้ยั่งยืน

ความริเริ่มด้านแนวปะการังระหว่างชาติ (International Coral Reef Initiatives = ICRI) เกิดจากภาคีความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานรัฐบาลระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ และองค์กรเอกชน มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ดำเนินการทางด้านอนุรักษ์ฟื้นฟู และให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรแนวปะการังและระบบนิเวศอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เช่น ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม Chapter 17 of Agenda 21 ของผลการประชุม United Nations Conference on Environment and Development ที่กรุง Rio de Janeiro ประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ. 1992



ICRI  ได้กำหนดปีปะการังสากล (International Year of the Reef = IYOR) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 และครั้งที่ 2 ในปี 2551 และในปี 2561 นี้กำหนดเป็นปีปะการังสากลครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  1. สร้างความเข้มแข็งให้เกิดความตระหนักทั่วโลก ให้เห็นถึงคุณค่าและภัยคุกคามในระบบนิเวศแนวปะการังและระบบนิเวศอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน  เช่น ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล
  2. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนในด้านการจัดการแนวปะการัง เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานของระบบนิเวศปะการัง และระบบนิเวศอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ประชารัฐร่วมใจ รักษ์ปะการังไทยให้ยั่งยืน
สำหรับในปี 2561 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของแนวปะการังที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์คุ้มครองและฟื้นฟูแนวปะการัง โดยใช้หัวข้อหลักในการดำเนินกิจกรรมในปีปะการังสากลครั้งที่ 3 นี้ว่า “ประชารัฐร่วมใจ รักษ์ปะการังไทยให้ยั่งยืน”





กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชน เช่น 
  • โครงการทำความสะอาดแนวปะการัง (บ้านปลา) 
  • โครงการติดตั้งทุ่นผูกเรือ 
  • โครงการฟื้นฟูแนวปะการัง และระบบนิเวศอื่นที่เกี่ยวข้อง 
  • กิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ 
  • กิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
  • กิจกรรมด้านอนุรักษ์เผยแพร่ความรู้สร้างความตระหนักให้กับเยาวชนในโอกาสต่างๆ เช่น วันเด็ก วันทะเลโลก ฯลฯ 
นอกจากนั้น จะมีการอบรมอาสาสมัครนักดำน้ำเพื่อร่วมกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีทักษะในการดำน้ำลึก รวมทั้งมีการอบรมอาสาสมัครในการสำรวจสถานภาพแนวปะการัง (Reef Watch) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสามารถตรวจตราสภาพแนวปะการัง และมีรูปแบบการรายงานที่เป็นมาตรฐานอีกด้วย 


Reef Watch Training at Marine and Coastal Resources Management Office
Phuket, Southern Thailand, 26 March 2018 : IYOR 2018
 
การมีส่วนร่วมของนักดำน้ำ
เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ IYOR 2018 นั้น ไม่ค่อยกว้างขวาง นักดำน้ำหลายคนแทบไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย  ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ICRI โดยมี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินกิจกรรมและติดต่อประสานงาน  ดังนั้น นักดำน้ำท่านใด กลุ่มใด หรือองค์กรภาคเอกชนใดที่สนใจ ประสงค์ที่จะทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมในปีปะการังสากล ครั้งที่ 3 (IYOR 2018)  ก็ลองติดต่อดูนะครับ  น่าจะมีเรื่องราวให้ทำอีกมากมาย   

หากเราสอนลูกหลานว่า ใต้ทะเลไทยสวย
เรากำลังโกหก...เพราะเราทำลายมันหมดแล้ว ในสมัยเราเอง
เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่โกหก

ช่วยกันครับ..ลองดู เพราะทั่วโลกเขาช่วยกันรณรงค์ เราเป็นนักดำน้ำคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เห็นปะการังสวยๆ และเราก็อย่างให้มันสวยอยู่อย่างนั้น ลองหากิจกรรมทำกันดูใน IYOR 2018 ... 



**********************************
ที่มาข้อมูล
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2561).International Year of the Reef (IYOR). [Online]. Available :http://www.dmcr.go.th/miniprojects/50/19898. [2561 กรกฎาคม 5].
  • ICRI. (2018). International Year of the Reef (IYOR). Available :https://www.icriforum.org/about-icri/iyor. [2561 กรกฎาคม 5].

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม