Translate

บทเรียนจากถ้ำหลวง..สู่โครงการพัฒนามาตรฐานการดำน้ำเพื่อการกู้ภัยของประเทศไทย

จากเหตุการณ์ที่เด็กๆ นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน  โดยนับเวลาตั้งแต่ติดถ้ำ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2561 จนกระทั่งนักดำน้ำกู้ภัยสามารถค้นหาพบ  เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2561 รวมเวลาติดอยู่ในถ้ำ เป็นเวลา 9 วันกับอีก 5 ชั่วโมงเศษๆ  

ทีมกู้ภัยต่างๆ หลายทีม หลายสาขา ทั่วประเทศไทยได้ช่วยกันระดมค้นหากันทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ยอมหยุดพัก  แต่ทีมที่ดูเป็นความหวังมากที่สุดก็คือ ทีมของหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม จากกองทัพเรือ ที่เรียกกันว่า Thai Navy Seal หรือหลายคนชอบเรียกว่า มนุษย์กบ ซึ่งมีหน้าที่บุกทะลุทะลวงเข้าไปในถ้ำ ต้องดำน้ำผ่านโพรงและหลืบถ้ำต่างๆ ซึ่งน้ำขุ่นมองไม่เห็น ทัศนวิสัยเท่ากับศูนย์ แถมยังเชี่ยวกราก   สลับกับต้องเดินผ่านโคลน เลน และพื้นถ้ำที่มีความลาดชัน ภายใต้ความมืดมิด 

ภาพจาก เฟสบุ๊คของ digitalay
เมื่อ  1 July 2018 : 21:00  

ผมขอชื่นชมแด่ ทีมกู้ภัยทุกๆ ทีม ที่ช่วยกันทำภารกิจครั้งนี้จนสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทีมสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากถ้ำ ทีมสูบน้ำบาดาล ทีมระบายน้ำด้านนอกถ้ำ ทีมหาปล่องทางเข้าถ้ำด้านบน ทีมเจาะถ้ำ ทีมแพทย์และพยาบาลสนาม ทีมเสบียงอาหาร  และทีมสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ ทุกส่วนร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วยให้ภารกิจการกู้ภัยครั้งนี้ สำเร็จลงด้วยดี  


แผนผังถ้ำหลวง  เมื่อ 1 ก.ค.2561 โดย หน่วย SEAL

แผนภาคถ้ำหลวง เมื่อ 1 ก.ค.2561 โดย หน่วย SEAL

การดำน้ำในประเทศไทย
การดำน้ำในประเทศไทยในปัจจุบัน หากแยกตามวัตถุประสงค์หลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
  1. การดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยว  
  2. การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์
  3. การดำน้ำเพื่อการกู้ภัย
  4. การดำน้ำเพื่อทำงาน (ใต้น้ำ)  
  5. การดำน้ำเพื่อการวิจัย    
ในบทความนี้ ผมจะขอเขียนเฉพาะเรื่อง "การดำน้ำเพื่อการกู้ภัย"  เป็นสำคัญ เพื่อที่เราจะได้หันมาร่วมกันพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำน้ำเพื่อการกู้ภัยของประเทศไทยเสียที   


การดำน้ำในถ้ำเขาหลวง ภาพจาก FB: Thai NavySEAL
การดำน้ำเพื่อการกู้ภัย
การดำน้ำเพื่อการกู้ภัยในประเทศไทย ที่เราได้เห็นและได้ยินข่าวเป็นประจำก็คือ การดำน้ำเพื่อช่วยหาคนที่จมน้ำ  ตามทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง หรือเขื่อน  ส่วนใหญ่เป็นงานของมูลนิธิการกุศลต่างๆ  ที่มีอยู่เกือบทุกจังหวัด แต่เหตุการณ์ที่ "ถ้ำหลวง" ครั้งนี้ แตกต่างกัน คือ เป็นการดำน้ำในถ้ำ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน จึงไม่มีนักดำน้ำทีมีทักษะและประสบการณ์เพียงพอ แม้แต่หน่วยซีลเองก็ตาม ยิ่ง "อุปกรณ์เฉพาะที่ใช้ในการดำน้ำในถ้ำ" ก็ไม่มี เพราะไม่เคยได้จัดซื้อไว้ คงมีแต่อุปกรณ์ที่ใช้ดำน้ำแบบทั่วๆ ไปเป็นหลัก การดำน้ำในถ้ำ (Cave Diving) ผู้ที่จะดำได้จะต้องได้รับการฝึกอบรมและได้ใบรับรองจากองค์กรสากลที่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเป็นการดำน้ำที่อันตรายมาก (อ่านรายละเอียดการดำน้ำในถ้ำเพิ่มเติม)

 จอห์น โวลันไทน์ นักดำน้ำถ้ำชาวอังกฤษ เจ้าของเสียง "How many of you"
นักกู้ภัยคนแรกที่ไปถึงจุดที่ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง

บทเรียนของการดำน้ำเพื่อการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงในครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาทบทวนกันว่า ในยามปกติที่ไม่มีภัยพิบัติ เราควรที่จะพัฒนาขีดความสามารถนักดำน้ำของหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กู้ภัย ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการ ทหาร ตำรวจ หรือของมูลนิธิการกุศลต่างๆ ที่มีอยู่ ให้ได้มาตรฐานการดำน้ำแบบสากล ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนกระทั่งถึงขั้นการกู้ภัยได้   

เอาที่ง่ายๆ ที่สุด อาจจะเริ่มต้นจากนักดำน้ำอาสาสมัครของมูลนิธิการกุศลต่างๆ ที่มีอยู่เกือบทุกจังหวัด

"คนพวกนี้ มีใจรัก มีจิตอาสา มูลนิธิฯ บางแห่ง ไม่มีอุปกรณ์ดำน้ำ แต่คนพวกนี้ก็ช่วยกันซื้อหามาใช้เอง  เพื่อมุ่งหวังไว้ช่วยดำน้ำค้นหาคนที่จมน้ำ หรือบางทีก็ไว้ช่วยตำรวจ ดำน้ำหาของกลาง ที่โจรผู้ร้ายมาแอบทิ้งเอาไว้ในน้ำ ส่วนการฝึกดำน้ำนั้น ก็สอนกันเองจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของการดำน้ำแต่อย่างใด"     

ถามว่า นักดำน้ำเหล่านี้ อยากได้รับการฝึกการดำน้ำตามมาตรฐานสากลหรือไม่ แน่นอนครับเขาอยากได้มาตรฐานการดำน้ำที่ถูกต้อง มีบัตรประจำตัวนักดำน้ำสากล แต่สาเหตุหลักที่ทำไม่ได้ ก็คือ เขาไม่มีเงินเรียน เพราะการเรียนดำน้ำสากลระดับเริ่มต้น ขณะนี้ก็อยู่ที่คนละประมาณ 10,000-15,000 บาท แล้วแต่จะเรียนกับสถาบันใด ซึ่งสถาบันสอนดำน้ำสากลนี้ เจ้าของที่ออกบัตรเป็นของต่างประเทศทั้งนั้นครับ ในประเทศไทย ไม่มีสถาบันฯ ใดสอนและออกใบรับรองดำน้ำสากลได้ 


ที่ราชบุรี บ้านผม ในฐานะที่ผมเป็น Instructor สอนดำน้ำสากล ผมพยายามที่จะพัฒนานักดำน้ำของมูลนิธิการกุศลต่างๆ ใน จ.ราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งผมทำมานานแล้ว ผมสอนคนเหล่านี้ ฟรี ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ขอเพียงแต่นำอุปกรณ์ดำน้ำที่มีมาด้วย มุ่งหวังให้คนเหล่านี้ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการดำน้ำที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลให้งานกู้ภัยทางน้ำต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตัวเขาก็ปลอดภัยด้วย  
      
โครงการพัฒนามาตราฐานการดำน้ำเพื่อการกู้ภัย
หากเราสามารถพัฒนานักดำน้ำของหน่วยป้องกันภัยต่างๆ ของทางราชการ และนักดำน้ำอาสาสมัครของมูลนิธิกู้ภัยการกุศล ต่างๆ เหล่านี้ ให้เป็นมาตรฐานสากลได้ ก็จะทำให้การกู้ภัยในโอกาสต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ มีความปลอดภัยสูง  โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้   
  1. ฝึกอบรมนักดำน้ำของหน่วยงานป้องกันภัยทางราชการและนักดำน้ำอาสาสมัครของมูลนิธิการกุศลต่างๆ ให้ได้มาตรฐานสากล ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน (Open Water Diver) จนถึงขั้นการกู้ภัย (Rescue Diver)
  2. ฝึกอบรมการดำน้ำเพื่อการกู้ภัยแบบพิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น การดำน้ำเพื่อการกู้ภัยในถ้ำ (Cave Diver) การดำน้ำเพื่อการกู้ภัยในเรือจม (Wreck Diver)  การดำน้ำเพื่อการค้นหาและเก็บกู้ (Search and Recovery) เป็นต้น
  3. จัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานขึ้นมารองรับ การพัฒนามาตรฐานการดำน้ำเพื่อการกู้ภัย เป็นการเฉพาะ เพื่อการบริหารจัดการและการประสานงาน อาจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทยก็ได้ 
แนวทางการดำเนินการที่กล่าวมานี้  เคยเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายหน่วยงาน  แต่ก็ไม่เป็นผล  สาเหตุหลักก็คือ "ความไม่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของผู้บริหารประเทศ" ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่ "ถ้ำหลวง" ในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้บริหารประเทศได้หันมาพัฒนามาตรฐานเรื่องการดำน้ำเพื่อการกู้ภัยของประเทศไทย กันอย่างจริงจังเสียที

ขอเพียงผู้มีอำนาจเข้าใจ ทุกอย่างก็สำเร็จ




********************* 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม